การปลูกกล้วยไม้นอกจากปัจจัยด้านสภาพอากาศแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การรู้จักโรคของกล้วยไม้
หลายๆคนเมื่อปลูกกล้วยไม้แล้ว พอเลี้ยงไปสักพักต้นไม้เริ่มเหี่ยว เน่าหรือไม่ออกดอกอีกเลย ทั้งๆที่รดน้ำ ใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ วันนี้เรามีเคล็ดลับอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ก็คือ “การสังเกตต้นกล้วยไม้” ไม่ว่าจะเป็นบริเวณราก ลำต้น หรือดอก
เรามาเริ่มกันที่การสังเกตบริเวณดอก โรคที่มักเกิดกับดอกมีดังต่อไปนี้
- ดอกจุดสีสนิม หรือ โรคดอกสนิม
วิธีการสังเกต ในช่วงแรกจะเป็นจุดสีขาวหรือซีดขนาดเล็กที่ดอก แล้วจะค่อยๆลามขยายใหญ่เป็นสีเขียวเข้ม และกลายเป็นสีน้ำตาลแดงคล้ายสีสนิมในที่สุด สำหรับโรคนี้ช่วงที่ควรสังเกตเป็นพิเศษจะเป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาล สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
- เพลี้ยไฟ
วิธีการสังเกต จะมีแมลงตัวเล็กสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน วางไข่อยู่บนกลีบดอกกล้วยไม้ แต่จะมีการเคลื่อนตัวเร็วมากทำให้การยากต่อการสังเกต แมลงตัวนี้จะดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อน เช่น ดอก ทำให้ดอกตูมเกิดการชะงักไม่เจริญเติมโต ฝ่อคาก้านช่อดอก หรือหากเป็นดอกบานบริเวณปากหรือส่วนทับซ้อนของกลีบดอกจะซีด และกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้ โรคนี้ควรสังเกตเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน
- ไรแดง หรือ ดอกหลังลาย
วิธีการสังเกต จะมีแมงขนาดเล็กเกาะอยู่บริเวณดอก ทำให้ดอกเป็นจุดรอยช้ำบุ๋มสีม่วงเข้ม หากเมื่อดอกบานแล้วเห็นแผลที่กลีบล่างและก้านดอก แสดงว่าไรแดงเข้าทำลายตั้งแต่ดอกยังตูมอยู่ มักเกิดในช่วงอากาศร้อน แห้งแล้ง

- ไอ้ฮวบ
วิธีการสังเกต หนอนตัวนี้มักเข้าทำลายในระยะดอกตูมเล็กๆ พึ่งเริ่มแทงช่อ จะทำให้ดอกตูมบิดเบี้ยวหงิกงอไม่สมประกอบ ส่งผลให้เกิดการเน่าฉ่ำน้ำและหลุดจากช่อ หรือหากทำลายดอกตูมใหญ่ จะทำให้โคนดอกมีรอยช้ำสีน้ำตาล



- โรคเน่าดำ หรือเน่าเข้าไส้
วิธีการสังเกต บริเวณกลีบปากและก้านดอกจะเป็นแผลเน่า เหี่ยว หรือหลุดออกจากช่อดอก ควรสังเกตเป็นพิเศษในช่วงที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
- โรคเกสรสี
วิธีการสังเกต บริเวณปากดอกและเกสรเน่า เกสรเป็นสีดำ ควรสังเกตช่วงฤดูฝนมากเป็นพิเศษ
เมื่อพบว่าดอกไม่มีอาการผิดปกติแล้ว ต่อมาให้สังเกตที่บริเวณลำต้นและใบของกล้วยไม้ โรคที่มักเกิดบริเวณนี้ได้แก่
- โรคใบไหม้ หรือโรคแอนแทรคโนส
วิธีการสังเกต จะมีแผลเป็นวงแหวนทับซ้อนกันหลายๆวง สีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำที่ใบหรือขอบใบ หรือหากรุนแรงมาก ใบไหม้แห้งทั้งใบ โรคนี้มักพบในช่วงฤดูฝน


- โรคใบปื้นเหลืองหรือใบแต้มเหลือง
วิธีการสังเกต ใบจะมีจุดกลมสีเหลือง หากปล่อยไว้จะเป็นปื้นเหลืองตามแนวยาวของใบ ใต้ใบจะเห็นเป็นกลุ่มผงสีดำและใบจะเป็นสีน้ำตาลหลุดร่วงจากต้น ช่วงที่ต้องสังเกตเป็นพิเศษคือฤดูฝนและฤดูหนาว


- โรคข้อดำ
วิธีการสังเกต หลังใบจะมีจุดด่างขาวเล็กๆ และมีคราบของใบเกาะ ผิวใบด้านหน้าไม่เรียบสีเหลืองและค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ายสนิม
ส่วนสุดท้ายที่ต้องสังเกตก็คือ โรคที่มักเกิดกับรากของกล้วยไม้
- โรคเน่าดำแห้งหรือโรคราเมล็ดผักกาด
วิธีการสังเกตุ บริเวณรากหรือโคนต้นมีผุเปื่อย ปลายรากกุด เน่าเป็นแผลแห้งจนถึงแห้งกรอบ อาจมีเส้นใยสีขาวและเม็ดกลมๆคล้ายเมล็ดผักกาดเกาะตามแผลที่โคนต้น รากจะมีแผลเน่า ส่งผลทำให้เกิดอาการแห้ง ใบเหลืองและร่วง


